TH EN
01 March 2022

‘บมจ.ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่’ โชว์วิสัยทัศน์ผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนชั้นนำ ชูจุดแข็งด้านเทคโนโลยีการผลิตและความมั่นคงทางวัตถุดิบ รุกขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพ มุ่งสู่ผู้นำอุตสาหกรรม

บมจ.ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ ผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนชั้นนำ ชูวิสัยทัศน์มุ่งสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน รุกขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพ ด้วยจุดแข็งความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพและความมั่นคงทางด้านวัตถุดิบ สอดรับนโยบายส่งเสริมพลังงานสะอาดภายใต้แผนพัฒนาการกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2018 Revision 1) ที่กำหนดเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่จากพลังงานทดแทนอีก 10,193 MW ภายในปี 2573 เพื่อตอบโจทย์คุณภาพชีวิตที่ดีและความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต

นายพงศ์นรินทร์ วนสุวรรณกุล ประธานกรรมการบริหารและกรรมการ บริษัท ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TGE ผู้นำด้านอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีจุดแข็งจากการเป็นหนึ่งในกลุ่มท่าฉางอุตสาหกรรม ผู้ประกอบธุรกิจโรงสกัดนํ้ามันปาล์มรายใหญ่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่มีผลพลอยได้จากการผลิต (by product) เป็นวัตถุดิบชีวมวลจากปาล์มจำนวนมาก ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ทำให้เล็งเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยได้เริ่มดำเนินการผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตั้งแต่ปี 2557 จนกระทั่งในปี 2562 จึงได้ขยายการเติบโตไปยังธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ซึ่งเป็นธุรกิจสามารถต่อยอดจากธุรกิจเดิมของบริษัทฯ และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐจากนโยบายสนับสนุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตามแนวทาง Green Energy หรือพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ธุรกิจของบริษัทฯ เป็นธุรกิจที่อยู่ในเมกะเทรนด์ของโลก และสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาพลังงานทดแทน ซึ่งจากแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดภายใต้แผนพัฒนาการกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2018 ปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) ฉบับล่าสุด กำหนดเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เป็นจำนวน 10,193 เมกะวัตต์ (MW) โดยเน้นการจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ดังนั้นจะทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในประเทศไทยจะเพิ่มเป็น 34.23% ภายในปี 2573 เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยกระทรวงพลังงานคาดการณ์ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศจะสูงสุด (Peak) ในปี 2580 ที่ 53,997 MW หรือคิดเป็นพลังงานไฟฟ้า 367,458 ล้านหน่วย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนั้นส่งผลบวกต่อธุรกิจผลิตไฟฟ้าภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงพลังงานทางเลือก เช่น ขยะชุมชน ก๊าซชีวภาพ และเชื้อเพลิงชีวมวล ฯลฯ ที่เข้ามาทดแทนแหล่งพลังงานดั้งเดิมอย่างถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติที่มีแนวโน้มลดลงในอนาคต

นายพงศ์นรินทร์ กล่าวต่อว่า บริษัทฯ ในฐานะผู้นำด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 2 ประเภท ได้แก่ 1) โรงฟ้าชีวมวล จากวัตถุดิบหลักประเภททะลายปาล์มเปล่า เส้นใยปาล์ม และจากการเกษตรกรรม เช่น ไม้ชิพ รากไม้สับ เป็นต้น และ 2) โรงไฟฟ้าขยะชุมชน ทำให้บริษัทฯ จะได้รับประโยชน์จากแนวโน้มการเติบโตของความต้องการใช้พลังงานในประเทศ และนโยบายสนับสนุนพลังงานทดแทนจากภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม

บริษัทฯ มีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นบริษัทพลังงานชั้นนำ โดยใช้จุดแข็งและความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจ ประกอบด้วย 1) ความมีประสิทธิผลในด้านต้นทุน (Effectiveness) เนื่องจากโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้ง 3 โครงการของกลุ่มตั้งอยู่ในอำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกปาล์มที่สำคัญของประเทศ ประกอบกับบริษัทฯ อยู่ในกลุ่มท่าฉางอุตสาหกรรมที่ดำเนินธุรกิจโรงสกัดน้ำมันปาล์ม ซึ่งมี by product เป็นวัตถุดิบนำมาใช้ในโรงไฟฟ้าชีวมวล และรับซื้อวัตถุดิบชีวมวลจากชุมชนและเกษตรกรในพื้นที่ ทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (economy of scale) จากการจัดหาวัตถุดิบและต้นทุนค่าขนส่ง และสร้างความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงในการผลิต ทั้งนี้ การจัดหาชีวมวลในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าของบริษัท นอกจากจะทำให้ชุมชนและเกษตรกรมีรายได้และคุณภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการลดมลภาวะและค่าใช้จ่ายในการกำจัดชีวมวล ควบคู่ไปกับการสร้างมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศอีกด้วย

นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทฯ ทั้ง 3 โครงการ ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันและใช้เทคโนโลยีการผลิตเดียวกัน กลุ่มบริษัทจึงสามารถบริหารจัดการต้นทุนในการเก็บสำรองชิ้นส่วน อุปกรณ์สำหรับโรงไฟฟ้า ทำให้มีความยืดหยุ่นและสร้างความได้เปรียบในด้านต้นทุนอีกด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพที่ทำให้ท่าฉางมีความสามารถในการแข่งขันและความสามารถในการทำกำไรให้สูงขึ้น

2) ความมีประสิทธิภาพด้านการผลิตและบริหารจัดการ (Efficiency) บริษัทฯ มีการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าที่ทันสมัย และได้เปรียบในการแข่งขัน ทำให้การผลิตไฟฟ้าเกิดประสิทธิภาพสูงด้วยต้นทุนที่ต่ำ โดยโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทฯ สามารถรองรับเชื้อเพลิงได้หลากหลายชนิด เชื้อเพลิงที่มีความชื้นสูง 40-60% และเผาวัตถุดิบชีวมวลประเภททะลายปาล์มเปล่าได้ 100% ทำให้ต้นทุนต่ำกว่าโรงไฟฟ้าประเภทเดียวกัน ขณะที่โรงไฟฟ้าขยะชุมชน บริษัทฯ นำเทคโนโลยีที่สามารถเผาขยะมูลฝอยที่มีความชื้นสูง และใช้กระบวนการผลิตไฟฟ้าจากขยะแบบเผาตรงโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการคัดแยก ช่วยลดทั้งต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและลดการปล่อยของเสีย เข้าใกล้รูปแบบมลพิษเป็นศูนย์หรือ ‘Zero Waste’ อีกทั้งยังมุ่งมั่นในการวิจัยและพัฒนาที่ช่วยปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนผลิต รวมถึงนำกลยุทธ์การดำเนินงานและบริหารจัดการโครงการโรงไฟฟ้าสมัยใหม่มาใช้ เพื่อให้การดำเนินงานของกลุ่มบริษัทมีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว และเสริมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

3) ความมีประสบการณ์ด้านบุคลากรและความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจ (Experience) อย่างมีธรรมาภิบาล บริษัทฯ มีบุคลากรที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสูงทั้งในการผลิตและการพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยได้ประกาศใช้นโยบายด้านการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน (ESG: Environment, Social and Governance Policy) ซึ่งมีเป้าหมายมุ่งมั่นพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน บูรณาการเข้ากับการสร้างค่านิยมองค์กรที่เรียกว่า “TGE” (เทคโนโลยีที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพสูง เน้นธรรมาภิบาลขององค์กร ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม) และนำมาใช้เป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนกลยุทธ์และแผนปฏิบัติงานให้มีความเชื่อมโยงกัน เพื่อสร้างความสมดุลในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดห่วงโซ่คุณค่าของกิจกรรมทางธุรกิจ เสริมสร้างระบบบริหารจัดการให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องและพัฒนาสู่การเป็นองค์กรที่มั่นคงครอบคลุมทุกมิติ เพื่อให้เกิดความเป็นเลิศในธุรกิจด้านพลังงานทดแทนอย่างยั่งยืน นำมาซึ่งความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้น ตลอดจนผลประโยชน์สูงสุดแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม

ดร.ศักดิ์ดา ศิริภัทรโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TGE กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทฯ มีโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปิดดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 3 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้า TGE, TPG และ TBP ในอำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี กำลังการผลิตติดตั้งรวม 29.7 MW และปริมาณไฟฟ้าเสนอขายกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตามสัญญาระยะยาวรวม 20.3 MW รับรู้รายได้รูปแบบ Feed-in Tariff (Fit) และจะได้รับ FiT Premium เป็นระยะเวลา 8 ปีแรกนับจากวัน COD ซึ่งทั้ง 3 โครงการเป็นโรงไฟฟ้าประเภท VSPP ที่ใช้เทคโนโลยีกระบวนการผลิตแบบเผาไหม้โดยตรง (Direct Combustion) ด้วยการนำวัตถุดิบชีวมวลที่เป็นวัสดุเหลือใช้จากผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ ทะลายปาล์ม เส้นใยปาล์ม รากไม้สับ ต้นปาล์มสับ เป็นต้น มาเป็นเชื้อเพลิงป้อนเข้าสู่เตาเผา

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีโรงไฟฟ้าขยะชุมชนอีก 3 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้า TES SKW จังหวัดสระแก้ว, โรงไฟฟ้า TES RBR จังหวัดราชบุรี และโรงไฟฟ้า TES CPN จังหวัดชุมพร ซึ่งได้รับเลือกจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แล้ว และอยู่ระหว่างพัฒนา โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 22 MW และปริมาณไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญารวมประมาณ 16 MW คาดว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะออกระเบียบรับซื้อไฟฟ้าและทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายในไตรมาส 1/2565 และเริ่ม COD ได้ภายในปี 2567 จะทำให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมเพิ่มเป็น 51.7 MW และมีปริมาณไฟฟ้าเสนอขายกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวม 36.3 MW

ขณะที่แผนการขยายธุรกิจเพื่อเติบโตในระยะยาว บริษัทฯ เตรียมเข้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนกับ อปท. อีก 4 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้า TES PRI จ.ปราจีนบุรี, โรงไฟฟ้า TES CNT จ.ชัยนาท, โรงไฟฟ้า TES UBN จ.อุบลราชธานี และโรงไฟฟ้า TES TCN จ.สมุทรสาคร คาดว่าหากได้รับคัดเลือกจาก อปท. ที่เกี่ยวข้องให้เป็นผู้ร่วมลงทุนในโครงการในปี 2565 จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2569 และคาดว่ากำลังผลิตติดตั้งรวมของบริษัทฯ ในอีก 4 ปีข้างหน้า ภายหลังทั้ง 4 โครงการเริ่มดำเนินการแล้ว จะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเป็น 90 MW

“นอกเหนือจากโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าขยะชุมชน เรามีนโยบายที่จะขยายการลงทุนไปยังโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนประเภทอื่นที่มีศักยภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และก๊าซชีวภาพ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายระยะยาวที่จะเพิ่มกำลังผลิตติดตั้งเป็นมากกว่า 200 MW ภายในปี 2575 รวมทั้งอยู่ระหว่างการศึกษาขยายธุรกิจเพิ่มเติมไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตไฟฟ้า เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจในอนาคตอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้จุดเด่นเรื่องเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ดร.ศักดิ์ดา กล่าว

Back